ทีมข่าวกลุ่มการเมือง TDJ สัมภาษณ์พิเศษ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถึง “ความเชื่อมโยง” และสมมุติฐานความเกี่ยวข้องกันระหว่าง “รูปแบบการจัดซื้อจัดจ้าง” กับ “การใช้จ่ายโครงการที่เกี่ยวข้องกับการโยธา” ว่ามีความสัมพันธ์ในเรื่องความคุ้มค่าของการใช้จ่ายงบประมาณส่วนท้องถิ่นหรือไม่ อย่างไร
คำตอบของอดีตผู้ว่า สตง. ได้ขยายข้อสมมุติฐานข้อมูลได้ว่า ช่องว่างการใช้วิจารณญาณของท้องถิ่นในการตัดสินใจว่าโครงการจะใช้รูปแบบการจัดซื้อจัดจ้างแบบใด โดยเฉพาะรูปแบบเฉพาะเจาะจง (ที่ไม่มีผู้ประมูลแข่งขัน) ยังพบปัญหา ในการใช้งบประมาณก็มีการหลบเลี่ยง บางอย่างไม่ควรเจาะจงก็ทำ ระบบ e-bidding อย่าไปคิดว่ามันไม่มีปัญหา อาจจะซ่อนปัญหาไว้ก็ได้ เช่น โอเวอร์สเปก เขียนราคาให้สูง แล้วเวลาส่งมอบกลับได้ของอีกเกรดหนึ่ง ซึ่งส่วนต่างอาจกลับมาเป็นเงินทอน
คอนกรีตกับลูกรังเป็นสองกรณีที่พบปัญหาบ่อยมาก งานก่อสร้างมักจะสะท้อนปัญหาสร้างแล้วก็พัง สร้างแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ แล้วก็ถนนลูกรังชอบมากที่สุด ปัญหาถนนลูกรังก็คือ ตรวจสอบยาก เช่น เทดินลูกรังลงไปหมดกี่คันรถ พอเกลี่ยลงไปแล้วเราก็ตรวจสอบไม่ได้ บางทีก็โกยจากข้างๆ ขึ้นมา แล้วก็บอกว่าเทแล้ว ความจริงมันก็คือสไลด์ลงไป พวกนี้มีจุดรั่วไหล
ส่วนพวกคอนกรีตก็คือส่วนผสมไม่ได้มาตรฐาน ถนนเสียหายเร็ว เหล็กไม่ได้ขนาด ความหนาไม่ได้ วางเหล็กไม่ได้ตามระดับเป็นไปตามที่ออกแบบ พวกนี้มีปัญหา ถนนหนา 15 เซนติเมตร เหล็กเส้นต้อง 6 มิลลิเมตร แต่บางทีกองไว้ข้างล่าง วีธิสร้างชุ่ยๆ ไม่มีลูกถ้วยรองรับ มีจุดรั่วไหลอย่างนี้
ความโปร่งใส หรือไม่โปร่งใสก็คือ ถ้าเป็นวิธีเจาะจงขึ้นอยู่กับความพอใจของหน่วยงานที่เขามีข้ออ้าง เหตุผลความจำเป็น เลือกเจาะจงผู้รับจ้างได้เลย หรือชนิดยี่ห้ออะไรได้เลย โดยไม่คำนึงถึงการแข่งขัน ซึ่งความเป็นจริงจะใช้การจัดซื้อจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจงได้ ได้ในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็น ไม่ได้ใช้พร่ำเพรื่อ ซึ่งถ้าไปอ่านใน พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ใช้ได้ตามเงื่อนไข 1 2 3 4 เช่น ของที่ไม่สามารถจะเปรียบเทียบได้ ก็ใช้แบบเฉพาะเจาะจง หรือต้องการช่างมีฝีมือ หรือว่าเป็นของเฉพาะอย่างอยู่แล้ว ซึ่งก็มีไม่มากนักให้เลือกก็ต้องตรงไปตรงมา ก็ต้องเจาะจง ประกวดราคาไปก็ไม่ได้ประโยชน์ เพราะไม่มีใครมาแข่ง ถ้าจะใช้ทุกระเบียบมันจะมีปัญหา สิ่งหนึ่งที่จะมากำกับเรื่องนี้ได้ก็คือ ดูจาก พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ซึ่งจะปิดกั้นไม่ให้มีการเอื้อแก่รายหนึ่งรายใด ไม่ให้มีการเขียนสเปกเจาะจง เพื่ออุดช่องว่างตรงนี้
เมื่อพลิกกฎหมายว่าด้วย พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เขียนระบุไว้ว่า ประเภทการจัดซื้อแบบเฉพาะเจาะจง ถูกนิยามในมาตรา 82 ว่าวิธีเฉพาะเจาะจง เป็นงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างที่หน่วยงานของรัฐเลือกจ้างผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่ง ซึ่งเคยทราบหรือเคยเห็นความสามารถแล้ว ตามที่คณะกรรมการดําเนินงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงได้พิจารณาเสนอแนะ ทั้งนี้ให้กระทําได้ในกรณีดังต่อไปนี้
คำถามข้อต่อมาคือ ความใน พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่ระบุว่า (2) ให้ใช้กับงานจ้างที่มีวงเงินงบประมาณค่าก่อสร้างไม่เกินวงเงินตามที่กําหนดในกฎกระทรวง สิ่งที่ต้องค้นหาต่อจากคำถามถัดไป แล้ว “วงเงินงบประมาณค่าก่อสร้าง” เท่าไร จึงจะจะสามารถจัดจ้างได้โดยด้วยวิธีการเช่นนี้ได้?
คำตอบอยู่ใน กฎกระทรวงกำหนดวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง วงเงินการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ทำข้อตกลงเป็นหนังสือ และวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างในการแต่งตั้งผู้ตรวจรับพัสดุ พ.ศ. 2560 อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง มาตรา 56 วรรคหนึ่ง (2) (ข) มาตรา 70 วรรคหนึ่ง (3) (ข) (ง) มาตรา 82 (2) มาตรา 96 วรรคสอง และมาตรา 100 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้