จากการเปิดเผยและวิเคราะห์ข้อมูลเปิดภาครัฐ หัวข้อ "ขุมทรัพย์ 6 แสนล้าน และรอยรั่วงบประมาณท้องถิ่น!?" เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศได้รับรู้ร่วมกัน โดยทีมนักข่าวกลุ่มการเมือง “ชมรมทีดีเจ” หรือ ชมรมเครือข่ายนักสื่อสารข้อมูลเชิงลึกแห่งประเทศไทย (Thailand Data Journalism Network (TDJ) และทีมผู้พัฒนาระบบ (Developer)
ทั้งนี้ ผลงานข้างต้นเกิดขึ้นมาจากการทำงานร่วมกันระหว่างผู้สื่อข่าวและผู้พัฒนาระบบ (Developer) หรือนักคอมพิวเตอร์สาขาต่าง ๆ เป็นระยะเวลากว่า 3 เดือน โดยระหว่างการทำงานนั้น ได้พบอุปสรรคในการเข้าถึง ข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data) ในหน่วยงานภาครัฐของไทยหลายประการ ทั้งที่รัฐบาลประกาศส่งเสริมให้ประชาชนนำข้อมูลที่หน่วยงานรัฐจัดเก็บไปใช้สร้างสรรค์นวัตกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม
ในระหว่างการทำงาน ทางเราได้พบอุปสรรคในหลายๆ ด้าน ซึ่งกระบวนการที่มีปัญหามากที่สุดคือ การได้มาซึ่งข้อมูลเพื่อเอาไปใช้ประกอบการวิเคราะห์ ตัวอย่างเช่น ในการขอ “ข้อมูลรายชื่อนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย้อนหลัง 10 ปี” จากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เราต้องทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ข้อมูลรายชื่อนายกและสมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจัดส่งไปทางไปรษณีย์ถึงหน่วยงาน ภายหลังนั้นได้รับการอนุเคราะห์จากเจ้าหน้าที่กองการเลือกตั้ง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ส่งรายชื่อนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในรูปแบบไฟล์ Spreadsheet (Excel) ทางอีเมล แต่ได้สูงสุดเพียง 1 ปี ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ให้เหตุผลว่า เนื่องจากระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานประมวลผลช้า อีกทั้งเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งทางเราได้ตั้งข้อสังเกตว่า “รายชื่อนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ไม่ควรถือเป็นข้อมูลความลับทางราชการ หรือข้อมูลส่วนบุคคลที่จำเป็นต้องปกปิดแต่อย่างใด
นอกจากนี้เรายังมีการทำหนังสือเอกสารขอชุดข้อมูลเกี่ยวกับ “รายได้รวมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” จากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อนำมาประมวลผล โดยฉบับแรกลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2562 ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ฉบับที่สองลงวันที่ 23 สิงหาคม 2562 แต่ปรากฎว่าไม่มีการตอบรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทางเราได้ลองสืบค้นข้อมูลเปิดที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในองค์กรปกครองท้องถิ่น ปรากฎว่าเว็บไซต์คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ไม่ได้มีการแสดงผล หรือมีช่องสืบค้นการตรวจสอบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยเฉพาะ ทำให้ยากต่อการเข้าถึงและสืบค้นข้อมูลฐานความผิดหน่วยงาน อปท. ที่ได้รับการตรวจสอบทั่วประเทศ โดยเฉพาะในคดีที่เกิดขึ้นย้อนหลังหรือในปีล่าสุด เพื่อนำมาแสดงให้เห็นว่ามีบุคคลหรือหน่วยงาน อปท. ใดที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต และมีความผิดมูลฐานใดบ้าง
ในการสืบค้นฐานข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เพื่อนำมาตรวจสอบนั้น เราไม่สามารถค้นพบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบและชี้มูลความผิดของคดีย้อนหลังหรือคดีล่าสุดของแต่ละอปท.ได้
ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบไปที่กฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 พบปัญหาในการเปิดเผยข้อมูล ข้อเท็จจริงเบื้องต้น หรือที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบที่ปิดกั้นการทำงานเชิงตรวจสอบของภาคประชาชนและสื่อ รวมทั้งความร่วมมือในองค์กรอิสระ ซึ่งเปรียบเสมือน “กฎหมายปิดปาก” ตัดตอนความร่วมมือในการป้องปรามทุจริตระหว่างภาครัฐกับประชาชนหรือสื่อมวลชน ได้แก่ มาตรา 180 ใน พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ที่ระบุว่า ผู้ใดเปิดเผยข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
เช่นเดียวกับความที่ปรากฎในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 มาตรา 104 ที่ระบุว่า ผู้ใดเปิดเผยข้อความ ข้อเท็จจริงหรือข้อมูลที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่การเปิดเผยสรุปผลการตรวจสอบที่เสร็จสิ้นแล้วโดยไม่ระบุชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือเป็นการเปิดเผยตามมาตรา 56 หรือเป็นการเปิดเผยต่อศาล พนักงานอัยการ หรือหน่วยงานที่ต้องดําเนินการตามผลการตรวจสอบของสํานักงาน หรือตามคําวินิจฉัยของคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือเป็นการกระทําตามหน้าที่ราชการ
การสืบค้นชุดข้อมูลสำคัญเพื่อนำมาเปิดเผยให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งรับรู้ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นทั่วประเทศ เช่น ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง รายได้รายจ่ายของ อปท. เต็มไปด้วยปัญหาและอุปสรรคนานัปการนั้น สะท้อนให้เห็นว่านโยบายของภาครัฐ ที่พยายามพลักดันให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ จัดทำรายการชุดข้อมูลและเปิดเผยสู่สาธารณะ เพื่อสนับสนุนการต่อต้านการทุจริต ตามหลักคิดเรื่อง Open Government Data ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
เมื่อมองภาพรวมของประเทศแล้ว ประเทศไทยมีปัญหาเรื่อง "ภาพลักษณ์การคอร์รัปชันในหน่วยงานภาครัฐ" โดยเมื่อปี 2560 ก็ถูกจัดอันดับความโปร่งใสลงจากอันดับที่ 96 ในปี 2561 ร่วงลงไปอยู่อันดับที่ 99 ต่ำกว่าทั้งประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนและหลายหน่วยงานต้องช่วยกันแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการเข้ามาช่วยตรวจสอบการทำงาน หรือการใช้งบประมาณด้านต่าง ๆ และการที่ประชาชนจะเข้ามีส่วนร่วมดังกล่าวได้นั้น ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ โดยเราขอสรุปปัญหาและอุปสรรคเรื่องข้อมูล 4 ประการ คือ
จากปัญหาดังกล่าวนั้น เราเห็นว่าชุดข้อมูลที่มีในปัจจุบัน ยังไม่สามารถเอามาใช้ประกอบ หรืออ้างอิงการตรวจสอบ หรือชี้ชัดได้ว่าโครงการไหนมีพิรุธในการทุจริตได้อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นเรื่องที่หน่วยงานภาครัฐต้องมาให้ความสำคัญและจริงจังกับ พ.ร.บ. การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 หรือ พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล เพื่อจะได้ผลักดันให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลที่สู่สาธารณะ ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างแท้จริง
ในส่วนของการดึงข้อมูลจากเว็บไซต์ “ภาษีไปไหน” ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และเว็บไซต์ระบบคลังข้อมูลธุรกิจ ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ นั้นทำได้ค่อนข้างยากและล่าช้า เนื่องจากปัญหาเชิงเทคนิคของทางเว็บไซต์ ซึ่งทำให้การนำข้อมูลย้อนหลังมาวิเคราะห์ทางสถิติ หรือหาความเชื่อมโยงของข้อมูลจึงทำได้ค่อนข้างยากและใช้เวลานาน ซึ่งก็ถือเป็นอีกโจทย์สำคัญของการทำ Open Data ของประเทศไทย ที่ภาครัฐเองจะต้องยกระดับมาตรฐานเว็บไซต์ของแต่ละหน่วยงาน ให้เอื้อต่อการค้นหาและเข้าถึงข้อมูลของบุคคลทั่วไปที่สนใจ เราเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยบูรณาการให้การใช้ข้อมูลเปิดภาครัฐเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น