ขุมทรัพย์ 6 แสนล้าน และรอยรั่วงบประมาณท้องถิ่น!?
เขียนโดย: ชนิกานต์ กาญจนสาลี, กิตตินันท์ นาคทอง, กนิษฐา ไชยแสง, อักษราภัค พุทธวงษ์, ไวยณ์วุฒิ เอื้อจงประสิทธิ์, ภัทรวัต ช่อไม้
วันที่: 22/09/2562
หมายเหตุ: 1)
ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ถูกดึงจากเว็บไซต์ "ภาษีไปไหน" อาจมีปัญหาทางด้านเทคนิคเกิดขึ้นและทำให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน หากพบข้อผิดพลาดหรือข้อเสนอแนะ เรายินดีรับฟังเพื่อปรับปรุงและแก้ไข
; 2) การแสดงผลบางส่วนอาจไม่สมบูรณ์บนจอขนาดเล็ก
ในปี 2563 ประเทศไทยกำลังจะจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น หลังจากว่างเว้นไปนานกว่า 5 ปี
ถึงกระนั้น การทำงานหรือการบริหารโครงการขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งหลายนั้น ยังไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงในวงกว้างมากนัก เราจึงได้นำข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของ อปท.ทั่วประเทศมาวิเคราะห์ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจและตระหนักถึง
การบริหารงาน และรูปแบบใช้งบประมาณขององค์กรส่วนท้องถิ่นเหล่านี้
ปี 2561 อปท. มีรายได้รวม 636,573 ล้านบาท จากจำนวน อปท. ทั่วประเทศทั้งหมด 7,852 แห่ง เราได้พบว่ามีอปท.ทั้งหมด 6,737 แห่ง ที่มีข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของปี 2561 บนเว็บไซต์ภาษีไปไหน และเมื่อวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าว พบว่า
มีความเกี่ยวข้องกับโครงการจัดซื้อจัดจ้างด้านโยธา เช่น การสร้างถนน, การซ่อมถนน, การขุดถนน, การถมลูกรัง, และการราดคอนกรีต จำนวน
49,962.97 ล้านบาท จาก 112,169.48 ล้านบาท
ซึ่งคิดเป็น 44%
ของมูลค่าโครงการ อปท. ทั้งหมด และที่น่าสนใจคือ
ถ้าดูตามจำนวนโครงการ โครงการเกี่ยวกับโยธามีเพียง 151,917 โครงการ
จากโครงการของ อปท.ทั้งหมด 1,085,388 โครงการ
คิดเป็นแค่ 14% เท่านั้น
เมื่อประมวลข้อมูลเชิงลึก สืบหาโครงการขนาดใหญ่มูลค่างบประมาณเกิน 100 ล้านบาทขึ้นไป ทำให้พบรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้าง 6 รูปแบบที่นิยมมากที่สุด ดังรูป
หน่วย:
“พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส” อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับช่องโหว่กฎหมาย พระราชบัญญัต (พ.ร.บ) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ว่า การใช้วิจารณญาณของท้องถิ่นในการตัดสินใจว่า โครงการจะใช้รูปแบบการจัดซื้อจัดจ้างแบบใด โดยเฉพาะรูปแบบเฉพาะเจาะจง (ที่ไม่มีผู้ประมูลแข่งขัน) ยังพบปัญหา หรือรูปแบบอื่นอย่างระบบ E-biddig ก็อาจจะมีปัญหาอื่น ๆ ซ่อนไว้ เช่น สเปก ราคาสูง แต่เมื่อส่งมอบงานอาจจะได้ของอีกเกรด ซึ่งงานก่อสร้างมักจะสะท้อนปัญหาสร้างแล้วพัง โดยเฉพาะคอนกรีตกับลูกรัง เช่น ส่วนผสมคอนกรีตไม่ได้มาตรฐาน เหล็กไม่ได้ขนาด หรือวางเหล็กไม่ได้ตามที่ออกแบบ มีจุดรั่วไหลและตรวจสอบยาก
เมื่อดูสัดส่วนของโครงการจัดซื้อจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจง เทียบกับจำนวนโครงการทั้งหมด เราพบว่ามีหลาย อปท. ที่มีสัดส่วนนี้ค่อนข้างสูง
เรียงตามจำนวนโครงการจัดซื้อจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจง
หน่วย:
ในขณะเดียวกัน ถ้าดูจากมุมมองของบริษัทหรือนิติบุคคลที่มีมูลค่าโครงการของ อปท.ทั้งหมดในปี 2561 มากกว่า 100 ล้านบาทนั้น เราพบว่า อันดับแรกๆ เป็นกลุ่มนิติบุคคลที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นม โดย นายพิศิษฐ์ให้ความเห็นว่า "เนื่องจาก อปท.มีภารกิจในการจัดหานมโรงเรียน สำหรับเด็กนักเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่ของ อปท.นั้นๆ ประกอบกับเอกชนที่ผลิตและจำหน่ายนมโรงเรียนมีจำกัด"
เรียงตามจำนวนโครงการจัดซื้อจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจง
หน่วย:
รวมข้อมูลของนิติบุคคลที่เกี่ยวกับด้านผลิตภัณฑ์นม
นายพิศิษฐ์ ให้มุมมองต่อเรื่องการกระจายตัวของบริษัทแต่ละภูมิภาคดังภาพ(ด้านล่าง) ภาพรวมโดยทั่วไปเมื่อวิเคราะห์ข้อมูลในส่วนภูมิภาค
จากประสบการณ์การทำงาน รูปแบบการกระจายตัวของบริษัทในแต่ละภูมิภาค ขึ้นอยู่กับการกำหนดเงื่อนไขหรือคุณลักษณะเฉพาะของผู้เข้าเสนอราคา เช่น ผลงานที่เกี่ยวข้องต้องมีผลงานชนิดเดียวกัน ต้องขึ้นอยู่กับการดูว่ามีเงื่อนไขที่เปิดกว้างเพียงใดด้วย
ขณะเดียวกันก็ขึ้นอยู่กับศักยภาพ และอิทธิพลของบริษัทที่จะเข้าแข่งขัน เช่น บางท้องที่มีบริษัทรับเหมาเจ้าประจำอยู่ เมื่อเปิดประมูล ก็จะมีส่วนทำให้บริษัทเอกชนอื่นที่เกรงอิทธิพลไม่เข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งท้องถิ่นมักจะมีปัญหาในลักษณะนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขการแข่งขันราคา ก็มักจะกระทำในลักษณะสมยอมกันในการเสนอราคา ที่เรียกว่า “จัดให้มีพระอันดับ” ในการแข่งขัน เพื่อพรางหรือหลอกว่ามีการแข่งขันจริง ทั้งที่ไม่มีการแข่งขันอย่างแท้จริง พบว่าเป็นเรื่องของการทุจริตเชิงแฝงเร้นได้ โดยระเบียบแล้วจึงต้องมีการตรวจสอบว่าผู้เสนอราคาต้องมิใช่เครือข่ายเดียวกัน เช่น ตรวจสอบจากการถือหุ้น หรือ ผู้บริหารของแต่ละบริษัท ซึ่งผู้ตรวจสอบคือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่คัดเลือกผู้ขายหรือผู้รับจ้างในโครงการ โดยการกระจุกตัวของผู้ขายหรือผู้รับจ้าง มักตามมาด้วยปัญหาการส่งมอบงานที่ไม่มีคุณภาพ ล่าช้า การขายงาน จนนำไปสู่การทิ้งงาน ซึงมักพบบ่อย⏤อดีตผู้ว่า สตง.ขยายความข้อมูล
เลือกไฮไลท์สีตามสัดส่วนโครงการแบบ
ภาพด้านล่างสามารถตรวจสอบบริษัทอื่น ๆ ที่มีรายได้มากกว่า 100 ล้านบาท จากการจัดซื้อจัดจ้างโครงการ อปท. เพิ่มเติม โดยประชาชนควรเข้ามาดูและตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นด้วยตัวเองได้ ด้วยการดูความสัมพันธ์เชิงผู้บริหาร เชิงทุน และลักษณะงาน เพื่อดูการกระจุกของโครงการและงบประมาณ ที่เสี่ยงต่อการล่าช้าและขายงาน จนนำไปสู่การทิ้งงานได้หรือไม่ ? ซึ่งหากพบข้อมูลที่ผิดปกติหรือส่อไปในทางไม่สุจริตอาจจะส่งให้ ป.ป.ช.,สตง. หรือ ป.ป.ท. เพื่อขยายผลเป็นการป้องปราม หรือปราบปรามการทุจริตต่อไป
อย่างไรก็ตาม จากการกระบวนการทำงาน เรื่อง “ขุมทรัพย์ 6 แสนล้าน และรอยรั่วงบประมาณท้องถิ่น!?” ทำให้เห็นถึงปัญหาการใช้จ่ายงบประมาณของ อปท.
โดยบทความนี้แสดงให้เห็นว่า โครงการส่วนใหญ่มีรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งอาจจะมีการเอื้อผลประโยชน์แอบแผงอยู่ แต่ทางทีมงานไม่สามารถวิเคราะห์เจาะลึกและฟันธงเรื่องการทุจริตได้ เนื่องจากข้อมูลเปิดภาครัฐที่เกี่ยวกับรายรับ - รายจ่ายของ อปท. ส่วนใหญ่ขาดรายละเอียดที่สำคัญบางประการ รวมถึงมีความยุ่งยากซับซ้อน และการจัดแสดงผลข้อมูลตัวเลขทำอย่างไม่เป็นระบบ ไม่ครบถ้วน ไม่ทันสมัย และไม่เอื้อต่อการนำมาใช้วิเคราะห์ประมวลผลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขปรับปรุงอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการนำข้อมูลไปใช้ เพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง